ปางพระพุทธรูปมีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติและความเชื่อทางศาสนาพุทธ โดยปางต่างๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อถึงอิริยาบถและเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าได้ประสบในช่วงต่างๆ ของพระชนม์ชีพ ปางพระพุทธรูปแต่ละปางจึงมีความหมายและความสำคัญแตกต่างกันไป มักถูกนำมาใช้ในวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับการบูชาตามวันเกิดและการทำบุญต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์บ่อยครั้งที่มีการแชร์ภาพพระพุทธรูปในอิริยาบถที่ไม่คุ้นตา เช่น ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางไสยาสน์ ซึ่งผู้ที่ไม่เคยศึกษาพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งอาจไม่เคยเห็นพระพุทธรูปปางเหล่านี้มาก่อน
ปางพระเกศธาตุ
เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นแนบพระเศียร แสดงกิริยาเสยพระเกศา
ประวัติ
หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะ พ่อค้าที่ถวายสัตตูก้อนสัตตูผง (อาหารที่เตรียมไว้กินเป็นเสบียง) ได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต ทั้งสองถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนา ทั้งคู่ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทบูชาพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงลูบพระเศียรด้วยพระหัตถ์ขวา และมีพระเกศา 8 เส้น ติดอยู่บนฝ่าพระหัตถ์ พระพุทธองค์โปรดประทานพระเกศาทั้ง 8 เส้นนั้นให้พ่อค้าทั้งสองคน โดยแบ่งให้คนละครึ่ง หลังจากที่พ่อค้าทั้งสองกราบบังคมลาและเดินทางกลับไปยังบ้านเมืองของตน ก็ได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่มหาชน
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ
ปางรับผลมะม่วง
เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) ส่วนพระหัตถ์ขวาถือผลมะม่วง หงายหลังพระหัตถ์วางไว้บนพระชานุ (เข่า)
พระพุทธรูปปางรับผลมะม่วง
ประวัติ
มีเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ได้นำบาตรไม้จันทน์แดงไปแขวนไว้สูง 60 ศอก พร้อมประกาศว่าถ้าพระอรหันต์มีอยู่จริง ขอให้แสดงฤทธิ์เหาะมาเอาบาตรนี้ไป หากพ้น 7 วันแล้วไม่มีผู้ใดทำได้ ตนจะถือว่าพระอรหันต์ไม่มีอยู่ในโลก พระปิณโฑลภารทวาชะ หนึ่งในพระสาวกของพระพุทธเจ้า ได้เหาะไปนำบาตรนั้นมา เมื่อมหาชนทราบ ต่างติดตามไปชมปาฏิหาริย์จนถึงพระเวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเหตุการณ์นี้ ก็ทรงตำหนิพร้อมออกคำสั่งห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์อีก
ต่อมาพวกเดียรถีย์ ซึ่งเป็นนักบวชนอกพุทธศาสนา ได้ท้าทายว่าตนจะแสดงปาฏิหาริย์แข่งกับพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงประกาศว่าจะทรงแสดงปาฏิหาริย์ ณ คัณฑามพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) ในกรุงสาวัตถี แต่พวกเดียรถีย์ได้จ้างคนโค่นต้นมะม่วงทั้งหมด
ในขณะนั้น นายคัณฑะ ผู้ดูแลสวนมะม่วงของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้นำผลมะม่วงสุกมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์รับและทรงให้ปลูกเมล็ดมะม่วงนั้น ทันทีที่ปลูก ต้นมะม่วงก็เติบโตอย่างรวดเร็วและแผ่กิ่งก้านสาขาอย่างน่าอัศจรรย์
ปางสนเข็ม
เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) พระหัตถ์ซ้ายจับเข็ม ส่วนพระหัตถ์ขวาจับเส้นด้าย แสดงกิริยาสนเข็ม
ประวัติ
ครั้งหนึ่ง เมื่อจีวรของพระอนุรุทธเถระเก่ามาก ท่านจึงหาผ้าบังสุกุลมาทำจีวรใหม่ พระเถระพบผ้า 3 ผืนในกองหยากเยื่อและนำมา ในสมัยโบราณการทำจีวรต้องตัดเย็บและย้อมเอง พระสงฆ์หลายรูปจึงมาช่วยกันแบ่งหน้าที่ตามความเหมาะสม พระพุทธเจ้าทรงช่วยร้อยด้ายเข้าในบ่วงเข็ม เมื่อใครด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์จึงทรงสนเข็มให้ จนการเย็บจีวรสำเร็จ
พระพุทธรูปปางสนเข็ม
ปางสดับพิณสามสาย
เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย วางแนบที่พระอุระ (อก)
ประวัติ
ในพุทธประวัติเล่าว่า พระอินทร์ได้ทรงดีดพิณสามสายถวายแด่พระมหาบุรุษ ในขณะที่พระองค์กำลังแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้น การดีดพิณครั้งนั้นทำให้พระมหาบุรุษตระหนักชัดว่า ทั้งการปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) และการปฏิบัติที่เคร่งครัดเกินไป (อัตตกิลมถานุโยคา) มิใช่หนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้น ทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทาเท่านั้นที่จะเป็นทางแห่งการตรัสรู้ เปรียบดังพิณสามสาย ที่ต้องไม่หย่อนไม่ตึงเกินไป จึงจะให้เสียงที่ไพเราะและเสนาะโสต
พระพุทธรูปปางสดับพิณสามสาย
ปางนาคาวโลก
ปางนาคาวโลกเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาห้อยเยื้องมาข้างหน้า วางไว้ที่พระเพลา (ตัก) ทางด้านซ้าย ส่วนพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกายตามปกติ หรือในบางแบบ พระหัตถ์ซ้ายอาจห้อยมาข้างหน้าและพระหัตถ์ขวาห้อยลงตามปกติ โดยเอี้ยวพระวรกายและผินพระพักตร์เหลียวไปข้างหลัง นอกจากนี้ ยังมีบางแบบที่พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก)
พระพุทธรูปปางนาคาวโลก
ประวัติ
วันหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ 79 พรรษา พระองค์ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากกรุงเวสาลี พร้อมทั้งรับสั่งว่าการเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้เป็น “ปัจฉิมทัศนา” หรือการทอดพระเนตรเป็นครั้งสุดท้าย การตรัสเช่นนี้ถือเป็นมรณญาณ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าพระพุทธองค์ใกล้จะปรินิพพานแล้ว พระองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่า แม้มหาชนทั่วไปก็จะไม่เห็นเมืองเวสาลีอีกเช่นกัน เพราะหลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจะเข้ายึดกรุงเวสาลี เนื่องจากกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ปฏิบัติตามอาปริหานิยธรรมที่พระพุทธองค์ได้ประทานให้เป็นแนวทางในการปกครองร่วมกัน ซึ่งเคยใช้ต้านทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ถึง 2 ครั้ง การทอดพระเนตรครั้งนี้เรียกว่า “นาคาวโลก” ซึ่งหมายถึงการเหลียวมองอย่างพญาช้าง สถานที่แห่งนี้มีการสร้างเจดีย์ขึ้นเรียกว่า “นาคาวโลกเจดีย์”
นอกจากนี้ ยังเคยเกิดประเด็นดราม่าก่อนหน้านี้เกี่ยวกับภาพพระพุทธรูปที่คล้ายปางสมาธิ ประทับอยู่บนฐานดอกบัว แต่มีรูปปั้นหญิงสาวเปลือยกายนั่งคร่อมบนตักพระพุทธรูป ในท่ากอด ขาทั้งสองข้างโอบรอบส่วนเอว มือกอดคล้องคอ และหันหน้าชนกันกับพระพุทธรูป ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์
จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นปางหนึ่งในนิกายตันตระยาน ซึ่งเป็นนิกายพุทธที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดู นิกายนี้มักสร้างรูปปั้นหรือพระพุทธรูปที่มีลักษณะประหลาด อิงตามจารีตวรรณกรรมและปรัชญาทางศาสนา เป็นที่แพร่หลายในอินเดีย เนปาล และทิเบต โดยในภาษาชาวบ้านมักเรียกกันว่า ยับยุม (Yab-Yum)
พระพุทธรูปปางนี้ไม่ได้ปรากฏในพุทธประวัติเหมือนปางอื่นๆ ความหมายของปางนี้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวระหว่างปัญญา (ตัวแทนเพศชาย) และความเมตตา (ตัวแทนเพศหญิง) ที่ต้องมีควบคู่กันเพื่อให้บรรลุธรรมที่แท้ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการเสพกิเลสจนเกิดความเบื่อหน่าย แล้วจึงค่อยๆ คลายกิเลสและหลุดพ้นในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.sanook.com/news